ประเทศอาเซียนเข้าสู่ AEC ไม่ว่าคนของแต่ละประเทศจะใช้ภาษาอะไรเป็นภาษาราชการ
อย่างที่ทราบกันว่า ในปี 2558 ประเทศอาเซียน 10 ประเทศจะเข้าสู่ AEC ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในเรื่องของภาษาเพื่อใช้ในการสื่อสารในสภาพการณ์ที่มีการแข่งขันสูงขึ้นและสภาพสังคมที่มีวัฒนธรรมต่างๆ หลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และควรจะต้องเตรียมความพร้อมให้ดี จากข้อมูลตัวเลขจำนวนผู้พูดภาษาต่างๆทั่วโลกของ Ethnologue 16th edition ในปี 2009 แสดงให้เห็นว่า ภาษาที่มีผู้พูดมากที่สุดในโลกนั้น 3 ลำดับแรก คือ ภาษาจีนกลาง ประมาณ 1,213 ล้านคน ภาษาสเปน ประมาณ 329 ล้านคน และภาษาอังกฤษ ประมาณ 328 ล้านคน ขณะที่ ข้อมูลตัวเลขจาก UNESCO ระบุว่า ภาษาที่มีการพูดกันมากที่สุดในโลกเรียงตามลำดับ คือภาษาจีนกลาง ภาษาอังกฤษ และภาษาสเปน นอกจากนี้ ภาษาที่ได้กำหนดให้ใช้ในสหประชาชาติมีด้วยกัน 6 ภาษาสำคัญคือ จีนกลาง อังกฤษ สเปน อาหรับ รัสเซีย และฝรั่งเศส จะเห็นได้ว่าความสอดคล้องกันของข้อมูลตัวเลขดังกล่าวข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของทั้งภาษาจีนกลาง และภาษาอังกฤษ ในฐานะที่เป็นภาษาที่ทั่วโลกใช้ในการสื่อสารระหว่างกันในโลกปัจจุบัน อีกทั้ง กฎบัตรอาเซียนข้อ 34 ก็ได้บัญญัติว่า “The working language of ASEAN shall be English” ที่กำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการทำงานของอาเซียน นั่นหมายถึง ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาที่ใช้ในระหว่างการประชุม การโต้ตอบทางจดหมาย การจัดทำรายงานการประชุม ผลการพิจารณา และมติที่ประชุม ตลอดจนการจัดทำคำแถลงการณ์ และปฏิสัมพันธ์ต่างๆของอาเซียน
เมื่อประเทศอาเซียนเข้าสู่ AEC ไม่ว่าคนของแต่ละประเทศจะใช้ภาษาอะไรเป็นภาษาราชการ และภาษาประจำชาติอยู่ในขณะนี้ เมื่อต้องติดต่อสื่อสารกับคนอื่นที่ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมนั้น ทุกคนจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ทุกคนต้องเรียนรู้และใช้ภาษาอังกฤษให้ได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะ เจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ และพนักงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน จะต้องมีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ และใช้ได้ดีด้วย ดังนั้น หากจะให้ลำดับความสำคัญของภาษาที่จำเป็นสำหรับชาวอาเซียนแล้วละก็ ภาษาอังกฤษถือเป็นภาษาบังคับอันดับแรกที่ประชาชนพลเมืองใน10 ประเทศอาเซียนจะต้องฝึกฝน พัฒนาขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพราะจะต้องใช้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้นแน่นอน เนื่องจากประชาชนของประเทศอาเซียนจะต้องไปมาหาสู่ ทำความรู้จัก เรียนรู้ซึ่งกันละกัน เดินทางท่องเที่ยว เดินทางข้ามพรมแดนเพื่อหางานทำและแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับชีวิต ดังนั้น ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาที่สองของชาวอาเซียน เคียงคู่ภาษาที่หนึ่งอันเป็นภาษาประจำชาติของตน จุดอ่อนของไทยนั้น คือ การที่ยังไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในเวทีต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษทางธุรกิจ การค้า การบริการ การท่องเที่ยว การแพทย์ ฯลฯ ซึ่งถือว่ายังต้องพัฒนาอีกมากเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์